โครงการ OFOC (One Functional-unit One Community) มีจุดเริ่มต้นจากการดำเนินงานของโครงการบ้านนี้มีสุขระยะที่ 1 และโครงการบ้านนี้มีสุขกำลัง 2 ในช่วงปี 2551-2554 โดยภายในโครงการบ้านนี้มีสุขทั้ง 2 ระยะ ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานไว้ 6 ข้อดังนี้
- เพื่อสนับสนุนให้เกิดบูรณาการกลไกการบริหารจัดการ หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับกระบวนการสร้างเสริม สุขภาพ ให้ได้มีการได้รับประโยชน์ร่วมกันระหว่างการบรรลุเป้าประสงค์ตามพันธกิจหลัก ของมหาวิทยาลัย และการสร้างเสริมสุขภาพให้กับผู้ได้รับประโยชน์หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
- เพื่อส่งเสริมให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อความปลอดภัย และการมีสุขภาวะที่ดีของประชาคม โดยมีโครงการต้นแบบหรือโครงการตัวอย่างที่สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่สังคม
- เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของส่วนงานของมหาวิทยาลัยในกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพแก่ ชุมชนโดยรอบพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างขององค์กรที่สามารถใช้สุขภาพเป็น เครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และส่งเสริมความเข้มแข็งทางสุขภาพให้กับชุมชนโดยรอบของมหาวิทยาลัย เป็นส่วนหนึ่งของบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
- เพื่อสนับสนุนกลไกและกระบวนการด้านกิจการนิสิตในการสร้าง จิตสำนึกและศักยภาพของนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการมีส่วนร่วมลด ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน
- เพื่อสนับสนุนและพัฒนาแนวทางเพื่อบูรณาการ เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะในด้านต่างๆ ให้กับนิสิตผ่านรายวิชาหรือกิจกรรมในระบบการจัดการศึกษา
- เพื่อส่งเสริมและพัฒนาต้นแบบกระบวนการที่เอื้ออำนวยให้บุคลากรของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมีความสามารถในการดูแลสุขภาพของตนเองเพิ่มขึ้น ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญา ทั้งบุคลากรทั่วไป และผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โดยบูรณาการเข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันในมหาวิทยาลัย
จากวัตถุประสงค์หลักของโครงการบ้านนี้มีสุข จะพบว่าในวัตถุประสงค์ข้อที่ 3 เป็นการดำเนินงานเพื่อชุมชน โดยอาศัยเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงชุมชน โดยดำเนินงานในพื้นที่โดยรอบของมหาวิทยาลัย ในกรุงเทพมหานคร และในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยแบ่งการทำงานดังนี้
- ชุดโครงการชุมชนสุขภาพ 5 ส (ร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยฯ)
ชุด โครงการ 5 ส มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสำนักงานจัดการทรัพย์สินกับชุมชน บริเวณรอบพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และชุมชน โดยใช้เรื่องสุขภาวะเป็นเครื่องมือ ในการสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนใน ระยะยาวให้แก่ประชาชนในชุมชน (ผู้เช่า/ ผู้มาใช้บริการ/ผู้อยู่อาศัย) สยามสแควร์ สวนหลวง สามย่าน สีลม และสวนลุมพินี มีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี ตลอดจนการปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพและสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีในระยะยาว ร่วมกับการพัฒนาชุมชนไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ และนิสิตมีส่วนร่วมในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน
- ชุด โครงการ OFOC (One Functional-unit One Community) (ร่วมกับสำนักงานมหาวิทยาลัย)
ชุดโครงการ One Functional-unit One Community (OFOC) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ส่วนงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ของมหาวิทยาลัย (เน้นพื้นที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นหลัก) โดยการสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนใด ชุมชนหนึ่งที่กำหนดไว้ในระยะยาว ในรูปแบบที่สอดคล้องกับพันธกิจ ความรู้ความเชี่ยวชาญ และความสนใจของส่วนงาน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้คณะ สถาบัน วิทยาลัยและสำนักวิชา ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่ชุมชนในสามารถใช้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนการสอน หรือการวิจัยในระยะยาว ร่วมกับการพัฒนาชุมชนไปพร้อมๆ กัน
ภายหลังจากการสิ้นสุดของโครงการบ้านนี้มีสุข ทางคณะทำงานโครงการ ต้องการที่จะพัฒนาการทำงานในชุมชน ให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน จึงได้ปรับการทำงานในส่วนของชุมชน ให้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักยุทธศาสตร์และการงบประมาณ ซึ่งสานต่อการทำงานในด้านการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนรอบพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และได้ขยายขอบเขตงานไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากในกรุงเทพมหานคร และสระบุรี
เพื่อให้การติดตามผลงานของ OFOC เป็นไปอย่างสะดวก ทางสำนักยุทธศาสตร์และการงบประมาณ จึงได้รวบรวมข้อมูลโครงการ OFOC ที่เป็นการดำเนินงานของโครงการบ้านนี้มีสุข และสำนักยุทธศาสตร์และการงบประมาณ มาไว้ในที่เดียวกัน โดยแบ่งผลงานโครงการ OFOC ออกเป็นส่วนๆ ซึ่งสามารถเลือกศึกษาข้อมูลได้ตามนี้