ลงพื้นที่ศึกษาดูงานชุมชน ตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี
จากการเรื่มต้นทำงานด้านชุมชน ของโครงการสระบุรีชุมชนเข้มแข็ง ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางโครงการได้เข้าร่วมสนทนา และศึกษาดูงานชุมชน ของลงพื้นตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก
ในการนี้ ทางโครงการได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่า รวมทั้งยังได้รับเกียรติจากทางศูนย์ประสานงานโครงการ (สสส.) ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ในการส่งตัวแทนเข้าร่วมพูดคุยในครั้งนี้ด้วย
ผลจากการศึกษาดูงานมีรายละเอียดดังนี้
การมาศึกษาดูงานในวันนี้ ทางทีมฯ เปรียบเสมือนกับนักเรียนที่ได้เข้ามาศึกษาในห้องเรียนธรรมชาติที่มีคุณค่า ทั้งคุณค่าต่อการเรียนรู้และคุณค่าต่อการพัฒนาสังคม โดยจุดมุ่งหมายของการมาเรียนรู้ในภาพรวมวันนี้ ประกอบด้วย
- ทีมวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิทยาตั้งอยู่เขตที่ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และมีแผนที่จะขับเคลื่อนงานด้านการสร้างชุมชนเข้มแข็ง แต่ยังขาดประสบการณ์ในเรื่องการเตรียมการ (กระบวนการ กิจกรรม กลวิธี) จึงตั้งใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
- ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า อะไรเป็นจุดสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จรวมถึง ปัญหาอุปสรรคมีเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และกระบวนการสำคัญที่จะชักชวนให้ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนต้องทำอย่างไร
- แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะของนักเรียนที่เข้ามาเรียนรู้ในชั้นเรียนที่เสมือนห้องเรียนชุมชน โดยมีครู ซึ่งเป็นผู้รู้ในชุมชนเป็นคนถ่ายทอดกระบวนการ
แนวคิดในการบริหารจัดการตำบล โดย นายธาดา อำพิน นายก อบต.อุทัยเก่า
ในฐานะที่เป็นผู้บริหารและประชาชนของตำบลอุทัยเก่า ผมขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง ซึ่งวันนี้ทาง ตำบลอุทัยเก่า ได้มีการเตรียมการจัดงานประเพณีลอยกระทง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านและชุมชนในการร่วมจัดงานประเพณีดังเดิมของชุมชนเป็นอย่างดี
ย้อนความถึงประสบการณ์เดิมของตำบลอุทัยเก่า ตอนเริ่มแรกก็เกิดปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่ชาวบ้าน ผู้นำ และชุมชนก็ร่วมกันฝ่าฝันอุปสรรคมาได้จนถึงวันนี้ ซึ่งความสำเร็จในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาตำบลอุทัยเก่านั้นคงยังไม่ถึงเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่การพัฒนาของตำบลยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องดำเนินการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ โดยหลักสำคัญของการทำงานเพื่อการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งของตำบลอุทัยเก่า ประกอบด้วย
- ทุกคนต้องไม่ทำงานเพียงคนเดียว โดยทุกฝ่าย ทุกส่วน และทุกคนต้องประสานการทำงานร่วมกัน ทั้งท้องถิ่น ท้องที่ อสม. รพ.สต. โรงเรียน (3 โรงเรียน) ที่ต่างต้องเข้ามาหนุนเสริมการทำงานร่วมกัน
- การทำงานยึดหลักการใช้เสียงข้างมาก หรือใช้ประชาธิปไตยในการทำงาน โดยการเรียกทีมงาน (เรียกกันว่า “ทีมงานชุดเก่ง”) มาคุยกันว่า โครงการฯ แต่ละโครงการฯ จะทำหรือไม่ ถ้าตกลงว่าจะทำ แล้วใครจะร่วมทำบ้าง
- ผู้บริหารเป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุน ให้คำปรึกษา โดยมีการคัดคนเก่ง (ที่อุทัยเก่าค่อนข้างจะยอมรับในตัวคนเก่งอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกว่าต้องเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ต้องเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็ก เนื่องจากมีการสนับสนุนการสร้างภาวะผู้นำ ในการนำพากลุ่มให้ก้าวข้ามปัญหาไปได้) ในการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะมีการคัดคนที่มีความพร้อมมีความถนัดไปดูงาน เพื่อให้เกิดความรู้และการต่อยอดงาน เสมือนการคัดคน กรองคน
- นำประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับ สสส. (สำนัก 3) ในการสร้างนักสื่อสารชุมชน ทั้งวิทยากรชุมชน ผู้นำชุมชน ที่เป็นต้นคิด ต้นทำ ได้ประมาณ 100 คน ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับลูกหลาน ผู้มาดูงานได้เป็นอย่างดี
- พื้นฐานของชุมชนเป็นเมืองโบราณ ผู้คนมีวัฒนธรรมเก่า กิจกรรมหรือวัฒนธรรมจะถูกอนุรักษ์ และนำมาโชว์กันในงานพิธีต่างๆ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมของชุมชนที่มีการร่วมมือจากคนในชุมชน ที่น่าภาคภูมิใจ คือ การจัดกิจกรรมวันแม่ที่ใช้งบประมาณเพียง 1,500 บาท โดยคนในชุมชนมาร่วมกันเป็นเจ้าของชุมชน ทั้งชาวบ้าน กลุ่ม และทุกคนในชุมชนต้องเป็นเจ้าของตำบลร่วมกัน
- ทุกคนในตำบลเข้าใจวัฒนธรรมในการหาเสียง เมื่อได้คนใดเข้ามาทุกคนจะจับมือกันแล้วเดินหน้าไปพร้อมกัน โดยที่การแข่งขันทางการเมืองไม่มีความรุนแรง และที่สำคัญสภาฯ ที่นี่ ไม่มีฝ่ายค้าน เพราะมีการใช้เสียงข้างมาก ที่มีการออกเสียงร่วมกันจากทุกภาคส่วนเพื่อออกข้อบัญญัติชุมชน ที่ไม่ยึดติดเฉพาะเสียงของสมาชิกสภาเท่านั้น
- ประชาชนที่อุทัยเก่ามีความต้องการพัฒนาในเรื่องคุณภาพชีวิตมากกว่าความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น จึงมีการต่อยอดการพัฒนาความต้องการในพื้นที่ เช่น กองทุนสวัสดิการสามขา การจ้าง/จัดหาครูสอนภาษาอังกฤษ การจัดการเรียนรู้เสมือนจริงควบคู่ไปกับโรงเรียน (เช่น เกิดศูนย์เรียนรู้ด้านกฎหมาย ด้านสภา ฯลฯ) ให้การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง (สร้างขวัญและกำลังใจในการอยู่ต่อ โดยไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง) รวมทั้งในการดูแลด้านอาชีพ ทั้งแก่ผู้พิการ ผู้ติดเชื้อ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต
- มุ่งให้เกิดการนำสิ่งของ/วัฒนธรรมที่เก่าแก่ให้กลับคืนมา เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองอุทัยเก่าให้เกิดขึ้น และคงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน เช่น การสร้างหลักเมือง การสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน การบูรณะวัดแจ้ง รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน
- การดำเนินชีวิตบนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการนำใช้ “บัญชีครัวเรือน” เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความเป็นอยู่ และหนี้สิน จึงหากลวิธีในการนำใช้ตัวเลขให้ชุมชนได้เห็น ในช่วงแรกที่ทำเป็นการสะท้อนข้อมูลให้เห็นมูลค่าการลงทุนด้านการเกษตร (170 ล้านบาท) ชาวบ้านจึงเชื่อและเห็นภาพจากข้อมูลมากกว่าใช้เพียงแค่คำพูด ที่อุทัยเก่าพยายามใช้เวทีชุมชนมากกว่าการพูดเชิงวิชาการ เช่น
- ข้อมูลด้านสุขภาพในการรักษาพยาบาล ที่มีข้อมูลมากกว่าสวัสดิการที่ชาวบ้านได้รับจากบัตรทอง (บัตร 30 บาท) ทาง อบต.กับ รพ.สต.จึงได้ดำเนินการตรวจหาสารพิษตกค้างในร่างกาย ช่วงแรกมา 30% ไม่ประสบความสำเร็จ จึงขยับไปร่วมกับเวทีประชุมผู้ใหญ่บ้าน หากหมู่บ้านไหนมีการประชุม จะขอตรวจผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
- จากการสุ่มตรวจเลือดตามเวทีหมู่บ้าน พบว่า มีผู้ป่วย 14 รายเป็นมะเร็ง และอีก 2 รายมีภาวะเสี่ยง จึงสอบถามพฤติกรรมเสี่ยงว่าเกิดจากอะไร ซึ่งพบว่า เกิดจากการบริโภคที่หาซื้ออาหารรับประทานจากตลาดในตำบล จึงเกิดแนวคิดในการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เกิดเป็น “ตู้เย็นข้างบ้าน” ที่สร้างสุขภาพให้ปลอดภัย และสร้างมูลค่าให้กับครอบครัว (โดยเฉลี่ยคนอุทัยเก่ามีรายได้จากการใช้บัญชีครัวเรือนประมาณ 500-1,000 บาท/วัน) และถือได้ว่าเป็นยาหม้อใหญ่ที่ใช้รักษาโรคของชุมชนมาจนถึงทุกวันนี้
- นำใช้ “บัญชีครัวเรือน” โดย อบต.อุทัยเก่า เป็นเจ้าภาพในการลงทุนให้ (ชุดละประมาณ 15 บาท) โดยให้ สภาเด็กและเยาวชนของตำบลเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการเก็บรวบรวมข้อมูล และบันทึกข้อมูล จนพัฒนาให้เกิดทีมนำใช้ข้อมูล เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากบัญชีครัวเรือนมาวางแผนแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งทาง อบต. ยังได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลให้กับเด็กและเยาวชน ชุดละ 10 บาท
- พนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้นำต้องเป็นต้นแบบอย่างให้กับชาวบ้าน โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องประสานงานกัน ผู้นำต้องเป็นต้นแบบในหมู่บ้านทุกเรื่อง มีความสนใจในปัญหาต่างๆ สนับสนุนกิจกรรมของส่วนร่วม และกล้าคิด กล้าตัดสินใจ ด้วยความยุติธรรม
- ชุมชนมีความร่วมมือร่วมใจ ทุกคนในชุมชนอยู่รวมกันแบบพี่แบบน้อง มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือกันยามเดือดร้อน และเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
- หน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมอย่างบูรณาการ โดยให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานที่ไปด้วยกันระหว่าง อบต. หน่วยงาน และชาวบ้าน
วัฒนธรรมและความยาวนานของตำบลอุทัยเก่า โดย นายประทิน เริงเขตกรณ์ ประธานสภา
ตำบลอุทัยเก่า ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองฉาง ซึ่งมีคำกล่าวว่า หนองฉางเป็นเมืองที่มี 10 ตำบล ที่มีลักษณะโดยรวมเรียกว่า “4 หนอง (หนองฉาง, หนองยาง, หนองนางนวล, หนองสรวง) 2 เขา (เขากวางทอง, เขาบางแกรก) 2 ทุ่ง (ทุ่งโพ, ทุ่งพง) และ 2 เก่า (อุทัยเก่า, บ้านเก่า)” เป็นอำเภอที่มีความเก่าแก่ และมีประวัติอันยาวนาน
คนอุทัยธานี เป็นเมืองของนักสู้ ดังนั้นคนอุทัยเก่าจึงเป็นนักสู้มาตั้งแต่ดั้งเดิม ตามประวัติของชุมชนที่ทุกท่านได้ชมจากวิดีทัศน์ พื้นเพของคนอุทัยเก่าเป็นคนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตแบบเกษตรกร โดยภาพรวมและแนวคิดในการบริหารจัดการตำบลจะมีผู้ดำเนินการนำเสนอในลำดับต่อไป
นวัตกรรมชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน โดย นางสาวอรัญญา เสลา ผู้อำนวยการ รพ.สต.อุทัยเก่า
ความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานของ 4 องค์กรหลัก ในการทำงานของอุทัยเก่า คือ ท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ โดยในส่วนของกิจกรรมด้านการดูแลสุขภาพชุมชนที่ตำบลอุทัยเก่าดำเนินการ มีดังนี้
การสร้างเสริมสุขภาพชุมชนของ ต.อุทัยเก่า จะมีการดำเนินงานร่วมกันจากทุกฝ่าย ทั้งจาก รพ.สต. อบต. แกนนำชุมชน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุมชน ที่มุ่งเน้นการส่งเสริม ป้องกันโรค เพื่อเชื่อมประสานกับ สสอ. และโรงพยาบาลหนองฉาง เน้นให้การดูแลเชิงรุกร่วมกับ อสม. ในพื้นที่ (รวม 64 คน จาก 10 หมู่บ้าน) อสม. 1 คน มีความรับผิดชอบดูแล 10-15 หลังคาเรือน เพื่อร่วมค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องให้การดูแล นอกจากนี้ ยังเน้นการดูแลสุขภาพของชุมชนแบบ “ใกล้บ้านใกล้ใจ” โดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยเรื้องรัง โดยมีรายละเอียดในการดำเนินงาน ดังนี้
- กลุ่มป่วยเรื้องรัง เป็นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ โดยประกอบด้วย ผู้ป่วยเรื้องรัง (เบาหวาน ความดัน) ป่วยติดบ้าน ติดเตียง การดูแลกลุ่มป่วยเรื้องรัง จะเน้นไปที่การเยี่ยมบ้าน ซึ่งขณะนี้ทางตำบลได้ใช้วิธีการเยี่ยมบ้านโดย “การปั่นจักรยานเยี่ยมไข้”
- เน้นการติดตามดูแลตามช่วงวัย เช่น 0-5 ปี จะมีการติดตามหลังคลอด การให้สุขศึกษาเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ รวมทั้งการส่งเสริมให้ได้รับภูมิคุ้มกันตามเกณฑ์ , 6-14 ปี มีการตรวจสุขภาพประจำปี วัคซีนตามเกณฑ์ และ 15 ปี ขึ้นไป จะมีการคัดกรอง (มีแบบคัดกรองของตำบล) โดย อสม.จะดำเนินการคัดกรอง แล้วจึงแยกกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม (กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยเรื้องรัง) โดย อสม.จะมีการประชุมเพื่อสรุปงานร่วมกัน ทุกวันที่ 10 ของเดือน
- กลุ่มปกติ จะให้การส่งเสริมสุขภาพ เพื่อสร้างแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
- กลุ่มเสี่ยง ดำเนินการคัดกรองทั้งทางด้านพันธุกรรม และพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อจัดหาและดำเนินการเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- เกิดการสร้างนวัตกรรมในการช่วยเหลือดูแล ภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรม “ขยับกาย สลายโรค” ที่นำวัสดุในท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประยุกต์เป็นอุปกรณ์ฟื้นฟูสภาพ ที่ออกแบบโดยชุมชน (ชาวบ้าน ผู้นำ และ อสม.) และได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบต. (เกิดนวัตกรรมสร้างสุขภาพจากชุมชน มากกว่า 11 รายการ เช่น ล้อด้ายสารพัดประโยชน์ ยางยืดเหยียดกล้ามเนื้อ Bamboo Exercise กาบตาลกายสิทธิ์ เม็ดมะขามนวดฝ่ามือ ยางยืดกันติด หมอนวดกะลา ไม้หนีบไล่เส้น ฯลฯ) เพื่อช่วยลดการใช้ยาแก้ปวด และกระตุ้นให้ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เกิดการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยได้มีการนำมาประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุ ประชนทั่วไป รวมถึงผู้มารับบริการที่ รพ.สต.
เศรษฐกิจชุมชนกับการสร้างรายได้ในชุมชน โดย นายอดุลย์ สวัสดี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9
การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ในแต่ละหมู่บ้านของ ต.อุทัยเก่า นั้น มีกฎว่า “กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน จะต้องสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้านเสมอ” โดยอาชีพเสริมจะต้องสร้างความมั่นคง สร้างรายได้เพื่อเสริมรายจ่ายให้กับครอบครัว (ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้) ได้เสมือนอาชีพหลัก เช่น
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองไม้ ที่มีการแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะม่วง กล้วย (เกิดโมเดล “ครบเครื่องเรื่องกล้วย : กล้วยกวนเสวย กล้วยม้วนใบเตย กล้วยเกลียวสวรรค์ ฯลฯ) เพื่อรวมกลุ่มสร้างรายได้ให้กับชุมชน
- กลุ่มประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีชุมชน มีการใช้แสงอาทิตย์ผลอตกระแสไฟฟ้า ประปา ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ (ใช้ในการตากกล้วย) บ่อหมักก๊าซชีวภาพ (กำลังขยายให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน) การประหยัดหลอดไฟในครัวเรือน
- กลุ่มถ่านอัดแท่ง จากผงถ่านเหลือใช้ เนื่องจากแต่ละหมู่บ้านมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านเผาถ่านใช้เอง โดยนำกิ่งไม้จากสวนมาทำถ่านใช้กันเองในครัวเรือน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและลดการใช้พลังงาน
- กลุ่มทำเห็ดนางฟ้า ที่มีการผลิตก้อนเชื้อเห็ดจำหน่าย (ตกปีละประมาณ 1 หมื่นก้อน) โดยได้รับการสนับสนุนเตานึ่ง จาก อบต. และพลังงานจังหวัด ทางกลุ่มจะมีการผลิตเชื้อที่มีคุณภาพดีโดยใช้ขี้เลื่อยจากยางพารา (สั่งมาจากเครือข่ายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่) ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งหมู่บ้าน โดยไม่เน้นที่ตัวบุคคล (หากเน้นที่ความสามารถเฉพาะบุคคลจะเป็นในส่วนของปราชญ์ชาวบ้าน ที่สร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชน)
- โรงสีชุมชน
- กลุ่มทำกระบะกล้วยไม้
การจัดการเศรษฐกิจชุมชนแบบเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน โดย นายธาดา อำพิน นายก อบต.อุทัยเก่า
ที่ตำบลอุทัยเก่า สภาฯ จะคอยดูแลเรื่องเศรษฐกิจของชุมชน โดยเน้นว่า “เศรษฐกิจชุมชนแต่ละหมู่บ้านไม่ควรซ้ำกัน แต่ต้องสามารถเกื้อกูล เชื่อมโยง และเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน” โดยต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของอุทัยเก่ามั่นคง จึงสร้างแนวคิดที่ว่า “ผลิตเอง ใช้เอง เหลือจึงจำหน่าย” เช่น
- หมู่ที่ 1 อาหารสัตว์ หมู่ที่ 2 เสื้อผ้า หมู่ที่ 3 เป็นเรื่องของน้ำพริก หมู่ที่ 4 คุกกี้ น้ำดื่ม หมู่ที่ 5, 9 เห็ด หมู่ที่ 7 สถานีแก้จน (สบู่ ยาสระผม ผงซักฟอก) การให้คนอ้วนมาลดน้ำหนักโดยการสีข้าว หมู่ที่ 9 มีผลมะกรูดหวาน (ที่อื่นไม่มี) หมู่ที่ 10 มีการทอผ้า (นักเรียน เจ้าหน้าที่ทุกวันอังคารต้องใส่ผ้าทอ ที่เป็นผ้าทอจากชุมชน) เป็นต้น
- โต๊ะจีน (อบต.ร่วมกับชุมชน) วงดนตรีชุมชน (ที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างกิจกรรมในเวลาว่าง และสร้างรายได้เสริมให้กับเด็กและเยาวชนในตำบล)
สถาบันการเงินชุมชน โดย นายวีรภัทร์ สุพรรณ์ อบต. หมู่ 9
จุดเริ่มต้นของการสะสมทุน มาจากกลุ่มออมทรัพย์ (ที่ ต.อุทัยเก่า ทุกหมู่บ้านจะมีกลุ่มออมทรัพย์) แต่ในหมู่ที่ 9 จะมีการสร้าง “สถาบันการเงินบ้านหนองไม้” (ธนาคารชุมชน) ที่มีการรับฝาก ถอน และปล่อยกู้ เพื่อเป็นการฝึกให้ชาวบ้านเกิดความสะดวกในการใช้บริการ (โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการจากเจ้าหน้าที่) เกิดความรับผิดชอบ และเกิดสวัสดิการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เช่น เกิดสวัสดิการ 500 บาท เฝ้าไข้เหมาจ่าย ครอบครัวละ 1,000 บาท ตายจ่ายค่าทำศพ ศพละ 2,000 บาท ผู้สูงอายุ มีการจัดหายารักษาโรค ผ้าห่ม การป้องกันและแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ (หากมีหนี้นอกระบบเกิน 20,000 บาท สามารถมากู้ที่สถาบันการเงินได้ทันที)
ความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน เกิดจาก (1) กลุ่มองค์กรแม่ ที่มีความเข้มแข็ง ในการช่วยเหลือกลุ่มอื่นๆ (2) กลุ่มแผน ที่มุ่งเน้นจัด สร้าง และวางแผนให้เอื้อต่อการดูแลบุคคลในกลุ่มต่างๆ ตามหลักของตำบลที่ว่า “ต้องให้การดูแลกลุ่มคนที่ โง่ จน และเจ็บ (3) กลุ่มคนทำงาน ต้องจัดหาผู้ร่วมรับผิดชอบงาน ตามความถนัดและความสามารถ (4) การประสานความร่วมมือ ทั้งจากระดับหมู่บ้าน ตำบล และประเทศ (5) การอำนวยการ โดยเฉพาะในเรื่องง่ายๆ เราต้องดำเนินการด้วยวิธีการแบบบ้านๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงได้โดยไม่รู้สึกหวาดกลัว และ (6) ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ในการใช้จ่ายงบประมาณ
Comments (0)