ลงพื้นที่สนทนากลุ่ม อำเภอแก่งคอย

Written by สระบุรีชุมชนเข้มแข็ง on Monday, 19 August 2013. Posted in กิจกรรมและประชาสัมพันธ์

เมื่อวันพฤหัสที่ 8 กันยายน 2555 คณะทำงานโครงการสระบุรีชุมชนเข้มแข็งได้ลงพื้นที่เพื่อการสนทนากลุ่มร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ณ ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยมีหน่วยงานราชการในพื้นที่เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก ทั้งจากหน่วยงานด้านการศึกษา สาธารณะสุข รวมทั้งหน่วยงานบริหารของพื้นที่ด้วย

สรุปประเด็นการประชุม

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายในการดำเนินโครงการในชุมชนในหัวข้อเรื่อง “สระบุรี ชุมชนเข้มแข็ง” โดยทางมหาวิทยาลัยต้องการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้สระบุรีเป็นชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย ได้จัดทำโครงการด้านชุมชนกับสระบุรี ผ่านโครงการ “บ้านนี้มีสุข” ดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม 2551 - เมษายน 2555 ที่ผ่านมา และมีจำนวนโครงการมากกว่า 14 โครงการ และดำเนินการในเรื่อง สุขภาวะ การศึกษา การเกษตร เศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีพื้นที่ดำเนินการ 3 ตำบล ในอำเภอแก่งคอย คือ ตำบลห้วยแห้ง ตำบลชำผักแพว และตำบลตาลเดี่ยว และดำเนินการภายใต้ชื่อ OFOC (One Functional unit One Community) โดยให้หน่วยงานซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งมีโครงการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสุขภาวะด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา การเกษตร ซึ่งมีโครงการที่ประสบความสำเร็จมากมาย อีกทั้งบางโครงการยังดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ในด้านของปัญหาในการดำเนินงานผ่านโครงการ บ้านนี้มีสุข คือ โครงการส่วนใหญ่ จะเป็นลักษณะที่ทางมหาวิทยาลัยคิดขึ้น ซึ่งอาจไม่ตรงกับปัญหาของพื้นที่ และแต่ละโครงการจะดำเนินการเป็นอิสระ ทำให้ไม่เกิดการบูรณาการ เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการทำงาน “สระบุรี ชุมชนเข้มแข็ง”

วัตถุประสงค์โครงการ “สระบุรี ชุมชนเข้มแข็ง”

  • เพื่อให้ชุมชนสระบุรีรับรู้และช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สร้างสิ่งดีงามให้สังคม
  • เพื่อให้ชุมชนมีความผูกพัน มีความสัมพันธ์ที่ดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน
  • เพื่อให้ชุมชนร่วมกันตัดสินใจดำเนินงานได้อย่างมีอิสระ โดยที่ไม่ต้องอาศัยหน่วยงานภายนอก
  • เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชุมชน และหวังให้เป็นพื้นที่ต้นแบบต่อชุมชนอื่นๆ ต่อไป

พื้นที่เป้าหมาย

ตำบลตาลเดี่ยว ตำบลชำผักแพว ตำบลห้วยแห้ง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และจะขยายต่อไปในพื้นที่อื่น

ประเด็นในการดำเนินงาน

สุขภาพ เกษตร สิ่งแวดล้อม การศึกษา และเศรษฐกิจสังคม

ความคาดหวัง

เกิดเครือข่ายคนในพื้นที่

ข้อเสนอแนะจากพื้นที่

  • ห้วยแห้ง (งานด้านทันตกรรม) ชุมชนได้รับผลประโยชน์ ทำให้เกิดคณะทำงาน จากเดิมที่ทำงานเพียงคนเดียว พัฒนาเป็น “ทีมพัฒนาสุขภาพช่องปาก” ขยายเครือข่ายเข้ามาในชุมชน โดยมีหมอฟันชุมชน ค่อยๆ ขยายคณะทำงานลงไป ทำให้ชุมชนเข้าถึงการรับบริการมากขึ้นในทุกช่วงวัย ปัญหาช่องปากน้อยลง
  • ห้วยแห้ง (ผู้สูงอายุ) เกิดชมรมผู้สูงอายุขึ้น ทำให้ภาครัฐ เห็นความสำคัญในการกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น
  • ควรตั้งประเด็นในการดำเนินงานให้ชัดเจน การกำหนดพื้นที่เพียง 3 ตำบลอาจเป็นผลเสีย เนื่องจากมีหลายโครงการที่ลงมาดำเนินการในตำบลนั้นๆ ทำให้พื้นที่ทำงานลำบาก เพราะต้องรับผิดชอบประสานงานหลายโครงการพร้อมๆ กัน ควรปรับเปลี่ยนเป็นดำเนินการใน 3 ตำบลหลัก และขยายไปยังตำบลข้างเคียงในชุมชนแก่งคอย ในประเด็นที่มีบริบทของปัญหา เช่น เรื่องของสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นใน 3 ตำบลมีปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่มาก แต่ถ้าในภาพรวมจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่มาก เช่น ในเรื่องของการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาจจะเห็นปัญหาไม่ชัดใน 3 ตำบลนี้
  • เนื่องจากจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ มีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ศาสตร์ บางเรื่องที่มาทำในพื้นที่ทำให้พื้นที่สามารถต่อยอดได้ดี ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย จะเห็นว่าพื้นที่มีความพร้อมในการทำงานอยู่แล้ว ถ้าทางจุฬาฯ มาช่วยเสริมทางด้านวิชาการ อาจทำให้พื้นที่มีศักยภาพสูงขึ้น และต้องดูความต้องการของประชาชนด้วย ถ้าโครงการที่มาดำเนินการ ไม่ตรงกับความต้องการของพื้นที่จริงๆ ก็อาจไม่มีความยั่งยืน ควรให้ชาวบ้านมาแสดงความคิดเห็น หรือเสนอประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆ ของพื้นที่
  • อยากให้ทำการสำรวจเชิงวิชาการถึงความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน จัดประชุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และจัดเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาในแต่ละด้าน และนำมาดำเนินการเป็นโครงการระยะยาว
  • ปัญหาสุขภาพที่สำคัญของพื้นที่คือ เรื่อง กลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการผ่านตามขั้นตอนการประเมินทางกฏหมายทุกอย่าง เพราะฉะนั้นทางพื้นที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

ข้อห่วงกังวลที่จุฬาฯ จะลงมาดำเนินการในพื้นที่

  • ที่ดินโดยรอบพื้นที่มหาวิทยาลัย มีราคาสูงขึ้น
  • โครงการที่ผ่านๆ มา เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น ก็เงียบหายไป อยากให้ทางมหาวิทยาลัยมาสรุปผลการดำเนินงานให้ชุมชนได้รับรู้รับทราบว่าชุมชนได้อะไรบ้าง ให้ทุกภาคส่วนมาร่วมรับฟังและสานงานต่อไป
  • ในส่วนของโรงพยาบาล งานด้านการบริการสุขภาพ ต้องรองรับจำนวนผู้มาใช้บริการมากขึ้น การให้บริการอาจไม่ทั่วถึง
  • เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาล ต้องการจากทางจุฬาฯ เข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องของภาษา เพื่อการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
  • พื้นที่ชำผักแพว มีความเป็นห่วงในเรื่อง จำนวนประชาการที่มากขึ้น เมื่อจุฬาฯ มาตั้งอยู่ในพื้นที่ และกังวลในเรื่องของโรคระบาดที่อาจเข้ามาตามปริมาณการย้ายถิ่น จึงต้องการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของชำผักแพวให้ดีขึ้น
  • คำว่า “จุฬาฯ” เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับชาวบ้าน ถ้ามีอาจารย์หรือใครมาทำงานในพื้นที่ และต้องการขอความช่วยเหลือจากพื้นที่ เรากังวลว่าจะสามารถช่วยเหลือได้หรือไม่ แต่ในความเป็นจริง อาจารย์ทุกท่านเป็นกันเองกับพื้นที่มาก ทำให้รู้สึกสบายใจ
  • การที่จุฬาฯ เข้ามาทำงานในพื้นที่ เหมือนเป็นการนำความเจริญมาสู่ชุมชน ชาวบ้านทุกคนกระตือรือร้น คนในพื้นที่มีงานทำ จำนวนประชาการเพิ่มขึ้น
  • ความเจริญ ทำให้วิถีชีวิตในพื้นที่เปลี่ยนไป เช่นที่โรงเรียนมีการสร้างถนน 4 เลนผ่านหน้าโรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนข้ามถนนลำบาก ปัญหาที่ตามมาคือ การบริหารจัดการน้ำ ไม่มีทางระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วม
  • ทางโรงเรียนได้ทำ โครงการ Bio-Gas ร่วมกับทางจุฬาฯ ซึ่งจุฬาฯ จะมีการติดตามผลเสมอ
  • ทางหมู่บ้านได้รับงบประมาณเพื่อการก่อสร้างถนน ซึ่งต้องตัดถนนผ่านบริเวณที่ติดตั้งเครื่องผลิต Bio-Gas ทางโรงเรียนจำเป็นต้องรื้อถัง Gas โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหางบประมาณสำหรับสร้างพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่องผลิต Bio-Gas ใหม่ อยากให้ทางจุฬาฯ เข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้
  • ความต้องการของทางโรงเรียน คือ ต้องการให้โรงเรียนเป็นที่ฝึก ปช. ให้กับนิสิตครุศาสตร์
  • ข้อกังวลเกี่ยวกับการเป็นชุมชนเมือง ทั้งด้านโครงสร้าง และสังคม
  • ต.หินซ้อน อยู่ไม่ไกลจากจุฬาฯ มากนัก มีปัญหาในเรื่องเด็กวัยรุ่นระหว่างอายุ 12-13 ปี พบภาวะการตั้งครรภ์สูง อยากให้ทางจุฬาฯ ให้ความช่วยเหลือนอกเหนือจาก 3 ตำบลที่อยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยด้วย
  • เกษตรอำเภอ ชอบโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Food Safety และเรื่องของเครื่องสีข้าว ชาวบ้านยังมีความต้องการอีกมาก ต้องการให้ทางคณะวิทยาศาสตร์ เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการแปรรูปผลไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร
  • สถานีอนามัย ประสบปัญหามากขึ้นในเรื่องของความเครียดของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีผู้เข้าใช้บริการมากขึ้น
  • ด้านการปกครอง ต้องการให้จุฬาฯ สนับสนุนเรื่องของการศึกษา อยากให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสถานศึกษา เพราะทางฝ่ายปกครองได้รับการเน้นย้ำเรื่องนี้มาจากทางรัฐบาล ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญ จึงต้องการปลูกฝังเรื่องเหล่านี้กับเด็กในโรงเรียน
  • ขาดการประชาสัมพันธ์ว่าจุฬาฯ จะมาทำอะไรในพื้นที่
  • พื้นที่มีความเป็นห่วงในเรื่องของมลภาวะที่เพิ่มขึ้น ขยะต่างๆ เพิ่มขึ้น การคมนาคมที่แออัดขึ้น
  • ผลดีที่ได้จากการที่จุฬาฯ เข้ามาทำงานในพื้นที่คือ ชุมชนมีการตื่นตัวมากขึ้น มีการรวมตัวกันของชาวบ้าน ตั้งเป็น กลุ่ม หรือชมรมต่างๆ
  • พื้นที่ต้องการข้อมูลงานวิจัยที่จุฬาฯ ดำเนินการ เช่นทางด้านภาวะสุขภาพต่างๆ ที่ได้สำรวจไป อยากให้กลับลงมาสู่ชุมชน หรือหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสานต่อการดำเนินงาน
  • ต้องการให้แพทย์ มาให้ความรู้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัย
  • ต้องการความต่อเนื่อง และยั่งยืนของโครงการ ในระยะยาวทางจุฬาฯ อยากให้ชุมชนดูแลตัวเองได้ แต่ในระยะสั้น อยากให้คอยช่วยเหลือชุมชน
  • ส่วนใหญ่ชุมชนหวังให้จุฬาฯ ทำให้ แต่บางทีทำไม่ครบขั้นตอนแล้วหายไป ชาวบ้านพอไม่มีใครมากระตุ้น ความสนใจก็จะลดลง

การดำเนินการร่วมกันระหว่างจุฬาฯ และชุมชน

  • เมื่อทราบถึงปัญหาต่างๆ ของชุมชนแล้ว ทางจุฬาฯ และชุมชน ดำเนินการร่วมกัน โดยมีจุฬาฯ คอยให้ความสนับสนุนในเรื่องของวิชาการ ไม่ใช่จุฬาฯ คิดอย่างเดียวแล้วดำเนินการทันที หรือพื้นที่ดำเนินการโดยไม่มีความรู้ และในระยะยาว ควรจัดตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมกัน เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ
  • ควรมีการจัดประชุมเฉพาะกลุ่มอีกครั้ง โดยเน้นประเด็นปัญหาในแต่ละด้านของพื้นที่ หลังจากนั้นจึงมีการจัดประชุมใหญ่เพื่อจัดตั้งเป็นโครงการในระยะยาว และเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการ

Comments (0)

Leave a comment

You are commenting as guest.

ติดต่อเรา

โครงการสระบุรีชุมชนเข้มแข็ง
อาคารจามจุรี 3 ชั้น 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ.พญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ : 02 218 3383 โทรสาร : 02 218 3396
อีเมล์ : hcuchula@gmail.com

แผนที่สำนักงาน